10 ธันวาคม พ.ศ. 2566
ส่วนตัวผมในฐานะคนที่หลงไหลจักรวาลโลกเวทมนตร์อย่างสุดติ่ง ตอนที่เล่มเกมรู้สึกประทับใจในเนื้อเรื่องหลักของเกมส์ ซึ่งกล่าวถึงเวทมนตร์โบราณที่ได้มาจากความเจ็บปวดของผู้คน ซึ่งเริ่มไว้โดยแม่มดนามว่า อิซาดอร่า มอร์กานาห์ แรกเริ่มเธอต้องการช่วยให้พ่อหายจากความเจ็บปวดซึ่งเกิดจากการสูญเสียน้องชาย
แม้จะถูกทัดทานจากเหล่าอาจารย์ของเธอ (ซึ่งต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมงาน) คำพูดต่างๆ จากเหล่าอดีตอาจารย์ของฮอกวอตส์ ฟังแล้วก็ชวนให้ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า ยังไงป้าโจก็น่าจะมีส่วนในการช่วยคิด story หลักของเกมให้กับทีมผู้สร้างอย่างแน่นอน (แม้ตอนให้ข่าวจะต้องบอกว่าป้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกมนอกจากการให้ลิขสิทธิ์ก็ตาม) เพราะผมมี sense ส่วนตัวว่า นี่มันลายเซนต์ของป้าโจชัดๆ เลย การเล่นกับความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของมนุษย์เนี่ยล่ะ
ศาสตราจารย์เพอร์ซิวาล แรคแฮม หนึ่งในผู้รักษาความลับ ได้เคยบอกอิซาดอร่าไว้ว่า “การใช้เวทมนตร์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์นั้น มันยากที่จะคาดเดาถึงผลลัพธ์ที่ตามมา” และ “ความเจ็บปวดของพ่อเธอนั้น สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่อิซาดอร่าที่จะแบกรับไว้ได้ตลอดไป”
แน่นอนว่าอิซาดอร่าไม่ฟัง.. หลายปีต่อมาเธอกลับมาฮอกวอตส์อีกครั้งในฐานะอาจารย์สอนวิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืด (วิชานี้อีกแล้ว!!) และเธอต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งที่แรคแฮมเคยสอนเธอเมื่อก่อนนั้นไม่เป็นจริง
อิซาดอร่าบอกกับเหล่าผู้รักษาความลับทั้งสี่ว่า ได้ค้นพบวิธีการดึงความเจ็บปวดออกมาได้แล้ว – เธอชวนพวกเขาไปที่บ้านและแสดงให้เห็นว่าเธอดึงความเจ็บปวดออกจากพ่อของเธอได้อย่างไร – แรคแฮมแน่ใจว่าเวทมนตร์ที่เธอใช้นั้นเป็นศาสตร์มืด เขาพยายามเตือนทุกคนให้เห็นว่าเวทมนตร์ที่อิซาดอร่าเพิ่งใช้ไปนั้นมันไม่เสถียรและไม่อาจคาดเดาได้ว่า “ความเจ็บปวด” ที่เธอเพิ่งดึงออกมานั้นจะถูกนำไปใช้ทำอะไร
อีกคนที่มองเห็นถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ คือ ศาสตราจารย์เนียม ฟิตซ์เจอรัลด์ แม่มดเพียงคนเดียวในกลุ่มผู้รักษาความลับและอดีตอาจารย์ใหญ่ของฮอกวอตส์ เธอพบว่าอิซาดอร่าไม่เพียงแค่จะไม่หยุดใช้เวทมนตร์นี้ แต่ยังถลำลึกไปไกลกว่านั้น - อิซาดอร่าเริ่มมองว่าทุกคนล้วนมีความเจ็บปวดซ่อนอยู่ภายในกันทั้งนั้น แล้วทำไมเราถึงยังต้องหวาดกลัวและทนทุกข์จากมัน ทั้งๆ ที่มันสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นพลังเวทมนตร์ที่ทรงพลังได้
เมื่อเล่นเกมมาถึงตรงนี้ ผมนึกย้อนกลับไปถึงคำพูดของศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ ซึ่งเคยบอกไว้กับแฮร์รี่ ในคราวที่เขาเพิ่งสูญเสียซิเรียสไปหมาดๆ ว่า
“การทุกข์ทรมาณแบบนี้แสดงว่าเธอยังเป็นคน ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์” - ซึ่งเป็นหนึ่งในตอนที่ผมรู้สึกประทับใจมาก แม้จะรู้สึกขื่นขมไปพร้อมๆ กัน ว่าสิ่งที่ดัมเบิลดอร์พูดนั้นมันก็เป็นความจริง
บางครั้งเราก็ใช้ชีวิตกันจนลืมมองว่า ตัวเราในตอนนี้ได้ผ่านความเจ็บปวดอะไรมาแล้วบ้างในชีวิต บางเรื่องผ่านมาแล้วก็ผ่านไป บางเรื่องผ่านเข้ามาและทิ้งรอยแผลเอาไว้กับเรา และเรื่องที่ทิ้งรอยแผลเอาไว้ ตอนที่มันยังอยู่กับเรา มันก็ทำให้เราเจ็บปวด จนอาจต้องทนทุกข์ทรมาณอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเลย ซึ่งมันก็อาจมีชั่วแวบหนึ่งที่เราเผลอคิดว่า “ขอให้ความเจ็บปวดนี้มันหายไปเสียทีได้ไหม”
อิซาดอร่า มอร์กานาห์ ก็คงคิดแบบนั้นเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นความจริงที่ว่า ความเจ็บปวดนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์จริงๆ - พวกเราทุกคน โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ - แต่ละคนล้วนมีบาดแผลที่ติดค้างอยู่ในจิตใจกันทั้งนั้น ที่ต่างกันก็คือ คนกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะเรียนรู้จากมันแล้วค่อยๆ ก้าวข้ามบาดแผลนั้นออกมา ซึ่งทุกๆ การก้าวผ่าน ก็คือการที่เราได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะลืมหรือลบบาดแผลนั้นออกไป เพราะบางทีการมีบาดแผลทิ้งไว้ ก็เป็นเสมือนการย้ำเตือนตัวเราเองด้วย ว่าเราจะไม่ทำผิดพลาดอีกเป็นครั้งที่สอง
ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง จะยังคงรู้สึกติดค้าง คาใจและไม่สามารถก้าวข้ามออกมาได้ แม้จะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม บางคนอาจโชคร้ายเหมือนกับพ่อของอิซาดอร่า ที่ปล่อยให้ความเจ็บปวดนั้นครอบงำจิตใจในที่สุด และอย่างที่ศาสตราจารย์แรคแฮมบอก สุดท้ายแล้วคนที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้นออกมาได้ก็มีแต่ตัวของพ่ออิซาดอร่าเอง
ความรักที่มีให้กับพ่อของอิซาดอร่า ผลักให้เธอถลำลึกไปไกล นี่อาจเป็นอีกครั้งที่จักรวาลโลกเวทมนตร์ได้แสดงให้เราเห็นว่าความรักที่มากจนเกินพอดี อาจส่งผลเสียที่ยากเกินกว่าจะคาดเดา
แม้ศาสตราจารย์แรคแฮมและฟิตซ์เจอรัลด์จะทักท้วงอิซาดอร่าว่าเวทมนตร์ที่เธอกำลังใช้อยู่นั้นมันอันตรายและไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ แต่เธอก็ถลำลึกไปมากขึ้น เธอเริ่มใช้เวทมนตร์กับนักเรียน สอนให้พวกเขาโอบรับความเจ็บปวด – หรือเธออาจจะทำให้พวกเขาเจ็บปวดเสียเองด้วย – ก่อนจะใช้เวทมนตร์ดึงความเจ็บปวดนั้นออกมา เก็บไว้เป็นขุมพลังซ่อนไว้ใต้ปราสาทฮอกวอตส์
บางทีศาสตราจารย์แรคแฮมอาจกำลังพยายามสอนอิซาดอร่า เหมือนกับที่ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์สอนแฮร์รี่ว่า ความเจ็บปวดนั้นสำคัญเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ แต่อิซาดอร่ากลับตีความไปว่า ความเจ็บปวดนั้นสามารถใช้สร้างเวทมนตร์ที่ทรงพลังขึ้นมาได้แทน โดยเธอไม่ได้มองอีกด้านว่าเวทมนตร์ที่เข้าไปยุ่งกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นั้น ได้สร้างผลลัพธ์ที่ยากจะคาดเดานานับประการ (ดังที่ปรากฏใน Hogwarts legacy)
เรียบเรียงบทความโดย Shootty แอดมินเพจพอตเตอร์ไดอารี่
หากนำบทความออกไปโปรดอ้างอิงเว็บไซต์และผู้เรียบเรียง