แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นมากกว่าวรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซีธรรมดา นอกจากข้อคิดเรื่องความรัก ความตาย คุณธรรมและความกล้าหาญแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือแนวความคิดทางการเมืองที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องตลอดทั้ง 7 เล่ม แนวคิดทางการเมืองสะท้อนถึงมุมมองของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ที่มีต่อโลกใบนี้
หากคุณติดตามเธอผ่าน Twitter ส่วนตัวด้วย คุณจะพบว่า เจ.เค. เองก็ใช้พื้นที่ตรงนั้นแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่หลายครั้ง ทั้งการเมืองในสหราชอาณาจักรและการเมืองระดับโลกอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป (EU)
เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวของพวกเราทุกคน การศึกษาและทำความเข้าใจถึงรูปแบบและวิธีการทางการเมืองจะช่วยให้เราเข้าใจถึงมุมมองของตนเองที่มีระบอบการปกครองได้มากขึ้น และบทความต่อไปนี้คือประเด็นทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งผมได้รวบรวมมาให้ทุกท่านได้อ่านและลองศึกษากันนะครับ
เดรโก มัลฟอย จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ห้องแห่งความลับ
เลือดสีโคลน เลือดบริสุทธิ์ เลือดผสม สามคำที่พ่อมดแม่มดบางกลุ่มใช้ในการแบ่งแยกเหล่าพ่อมดแม่มดด้วยกันตามชาติกำเนิด ยังไม่นับรวมกับการมองกลุ่มคนไม่มีเวทมนตร์ (มักเกิ้ล) เป็นกลุ่มคนที่อยู่คนละระดับกับพวกตนเอง
สำหรับพ่อมดแม่มดทั่วไป พวกเขาไม่ได้สนใจนักว่าใครจะเป็นเลือดแบบไหน หากแต่มีกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า เลือดบริสุทธิ์ (pure blood) ซึ่งหมายถึงกลุ่มพ่อมดแม่มดที่ปฏิเสธหรือรังเกียจการมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ไม่มีเวทมนตร์ หรืออีกนัยคือกลุ่มพ่อมดที่เลือกจะแต่งงานกับคนที่มาจากครอบครัวของพ่อมดแม่มดด้วยกันเท่านั้น หากญาติพี่น้องในตระกูลของพวกเขาแต่งงานกับมักเกิ้ล พวกเขาก็จะตัดพี่ตัดน้องกับสมาชิกคนนั้นไปเลย หรือแม้แต่ให้การช่วยเหลือหรือแสดงออกว่าชื่นชอบพวกมักเกิ้ล พวกเลือดบริสุทธิ์ก็พร้อมจะตัดญาติได้ทันที
เปรียบเทียบกับบริบทในสังคมหรือแม้แต่ในแง่ของการเมือง การหาคำมาเรียกคนที่ "แตกต่าง" จากเราดูเหมือนจะเป็นสัญชาติญาณพื้นฐานของมนุษย์ประเภท "พวกกู พวกมึง" อันเป็นกลไกพื้นฐานของพฤติกรรมทางสังคมที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาตัวรอดได้ และในทางชีววิทยามันคือสัญชาติญาณพื้นฐานของสัตว์ชั้นสูง
แน่นอนว่าเพราะกระแสความคิดสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลก การสรรหาคำมาเรียกคนที่แตกต่างจากตนเองได้กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจไปแล้วในโลกปัจจุบัน แต่สำหรับผู้คนในอดีตเรื่องนี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดามาก อย่างที่เราเคยทราบกันดีกับการเหยียดสีผิวในอเมริกา และกับสังคมผู้วิเศษที่มีความอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบการแบ่งแยกกลุ่มผู้วิเศษด้วยกัน
คอร์นิเลียส ฟัดจ์ จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ถ้วยอัคนี
ประเด็นที่ เจ.เค. ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านตลอดเล่มภาคีนกฟีนิกซ์ หลักๆ คือเรื่องการเมืองเน้นๆ ภายใต้สโลแกนหลักของฟัดจ์ "เพื่อความสงบสุขของชุมชนผู้วิเศษ" เขาเลือกที่จะปิดข่าวถึงการฟื้นคืนชีพของลอร์ด โวลเดอมอร์ และหันไปป้ายสีดัมเบิลดอร์กับแฮร์รี่ ผู้ซึ่งนำความจริงกลับมาบอกเขาว่าจอมมารกลับมาแล้ว
คอร์นิเลียส ฟัดจ์ รัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ เจ.เค. แนะนำเขาให้กับผู้อ่านรู้จักครั้งแรกในเล่ม 2 (ห้องแห่งความลับ) และเธอทำให้เราเข้าใจมาตลอดว่าเขาเป็นรัฐมนตรีที่ถ่อมตัวและให้ความเคารพดัมเบิลดอร์มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฟัดจ์ก็ทะนงตนขึ้นเรื่อยๆ เขาหลงไหลในอำนาจที่ตนเองได้รับ และเริ่มรักการเป็นรัฐมนตรี โดยเขาอาจลืมไปว่าช่วงแรกที่รับตำแหน่งนั้นเขาต้องคอยส่งนกฮูกขอคำแนะนำการบริหารงานจากดัมเบิลดอร์อยู่เรื่อยๆ
เมื่อรัฐมนตรีฟัดจ์ ได้รับคำเตือนจากดัมเบิลดอร์ถึงการกลับมาของโวลเดอมอร์ ฟัดจ์รู้ตัวดีว่าเขาไม่สามารถรับมือกับการเคลื่อนไหวของโวลเดอมอร์ได้ดีเท่ากับรัฐมนตรีคนก่อนซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่โวลเดอมอร์มีการเคลื่อนไหวครั้งแรก ความหวงแหนในอำนาจบวกกับความกลัวต่อปัญหาที่เขาจะต้องเผชิญ จึงทำให้ฟัดจ์แทนที่จะทำตามคำแนะนำของดัมเบิลดอร์ เขากลับหันมาเป็นศัตรูกับดัมเบิลดอร์ เพียงเพราะกลัวว่าตนเองจะต้องหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี
ฟัดจ์เริ่มหลอกตัวเองว่าดัมเบิลดอร์กำลังหาทางเขย่าตำแหน่งรัฐมนตรีของเขา โดยการกุเรื่องการกลับมาของโวลเดอมอร์ แม้เขาจะรู้อยู่แก่ใจว่าที่ดัมเบิลดอร์เตือนนั้นเป็นเรื่องจริง และเขาก็รู้ว่าตัวเองไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ แต่ด้วยฐิฑิและความหลงไหลในอำนาจการเป็นรัฐมนตรี แทนที่เขาจะรีบเตรียมแผนการเพื่อเข้าสู่ภาวะสงครามอีกครั้ง เขากลับใช้เวลาไปกับการเฝ้าจับตาดูดัมเบิลดอร์และคนรอบตัว
เริ่มจากการตรวจสอบและหมายหัวเจ้าหน้าที่ในกระทรวงทุกคนที่สนิทกับดัมเบิลดอร์ การใช้อำนาจของรัฐมนตรีในการกดดันสื่อหลักอย่างเดลี่พรอเฟ็ตให้รายงานข่าวตามที่เขาเห็นสมควร การใช้กระแสปากต่อปากในกลุ่มฝูงชนปล่อยข่าวว่าดัมเบิลดอร์เริ่มแก่จนเลอะเลือน และพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้แฮร์รี่เป็นเด็กชอบโกหกและเรียกร้องความสนใจ
การส่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงไปประจำที่ฮอกวอตส์โดยใช้อำนาจผ่านทางกฤษฎีกาการศึกษา แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงทางการเมืองโดยใช้อำนาจของรัฐมนตรีอย่างชัดเจนโดยไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอะไรตามมาบ้าง โดโลเรส อัมบริดจ์ถูกวางให้เป็นหมากตัวสำคัญ (จริงๆ เธอเสนอตัวเอง) อัมบริดจ์ทำหน้าที่ของเธอได้อย่างดีเยี่ยมตามที่ฟัดจ์ต้องการ ซึ่งก็นำมาถึงการต่อต้านจากบรรดานักเรียนและอาจารย์ของฮอกวอตส์ แม้แต่คนที่มีความอดทนเป็นเลิศอย่างศาสตราจารย์มักกอนนากัลยังต้องออกหน้าเองแทบทุกครั้ง
การที่ฟัดจ์คอยจ้องแต่จะเล่นงานดัมเบิลดอร์ เปิดโอกาสให้โวลเดอมอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจได้รวดเร็วมากขึ้น คนเริ่มหายตัวไปทีละคน มีข่าวการตายเกิดขึ้นรายวัน และฟัดจ์ก็ใช้อำนาจของตนเองกดดันเดลี่พรอเฟ็ตไม่ให้รายงานข่าว ฟัดจ์ดูมั่นใจว่าเขาควบคุมสถานการณ์ได้ จนกระทั่งเกิดการแหกคุกอัซคาบันครั้งใหญ่ที่ปลดปล่อยผู้เสพความตายหลัก 10 คน ฟัดจ์จึงเริ่มพบว่าสถานการณ์ไปไกลกว่าที่เขาจะควบคุมได้แล้ว และสุดท้ายเขาก็ถูกบีบให้ยอมรับความจริงในที่สุด เมื่อเขาเห็นโวลเดอมอร์ปรากฏตัวอยู่ ณ ใจกลางของกระทรวงเวทมนตร์
เฟร็ด วีสลีย์ จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ภาคีนกฟินิกซ์
สิ่งที่น่าปวดหัวและต้องระมัดระวังที่สุดในเรื่องความคิดทางการเมือง คือ เมื่อคุณพบว่าในครอบครัวของคุณ สมาชิกแต่ละคนมีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน มุมมองและแนวความคิดทางการเมืองถ้าคุณแบ่งปันกับคนอื่นๆ คุณจะพบว่ามันง่ายมากกับการยอมรับความคิดที่แตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มันจะกลายเป็นเรื่องยากทันทีหากสิ่งนี้เกิดขึ้นในครอบครัวของเรา
คิดๆ ไปมันก็น่าแปลก แต่ก็ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ ในสายตาผู้ใหญ่มักจะมองว่าเด็กๆ (อาจเป็นลูกหรือหลาน) ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมือง ด้วยความรักและห่วงใยพวกเขาจึงพยายามชี้ให้เห็นว่าการเมืองต้องมองให้รอบด้าน ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกตื่นเต้นกับการที่ตัวเองได้เจอคนที่มีแนวความคิดเดียวกันและมองว่าความคิดของผู้ใหญ่นั้นมันล้าหลังไปแล้ว
ประเด็นนี้ถ้าลองเทียบเคียงดูท่านจะพบว่ามันคล้ายกับการเมืองในประเทศไทยช่วงนี้มาก โดยเฉพาะกับคำว่าคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ แต่ เจ.เค. ได้แอบแฝงประเด็นนี้ไว้ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (เล่ม 5) ด้วย โดยยกประเด็นนี้ไปใส่ไว้ระหว่างนายวีสลีย์กับเพอร์ซี่
ต่อเนื่องจากประเด็นที่สอง เมื่อฟัดจ์ต้องการจับตาดูดัมเบิลดอร์และคนรอบตัว แน่นอนว่าครอบครัววีสลีย์ก็ตกเป็นเป้าด้วย ฟัดจ์ใช้อำนาจรัฐมนตรีสั่งย้ายเพอร์ซี่ออกมาจากองความร่วมมือด้านเวทมนตร์ระหว่างประเทศ เข้ามาประจำในสำนักรัฐมนตรีของเขาเอง โดยให้ตำแหน่งเพอร์ซี่เป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรี (เทียบได้กับเลขาของรัฐมนตรีนั่นล่ะ)
แน่นอนสำหรับเพอร์ซี่ ลูกชายคนที่สามของครอบครัววีสลีย์ ผู้ซึ่งมีความทะเยอทะยานและต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การได้เลื่อนตำแหน่งครั้งนี้ราวกับว่าเขาถูกหวยหรือได้โบนัสก้อนโตก็ไม่ปาน เขารีบกลับบ้านไปแจ้งข่าวดีให้กับครอบครัว และเขาต้องแปลกใจที่พบว่าพ่อกับแม่ไม่ได้แสดงความยินดีกับเขามากเท่าใดนัก
ในมุมมองของนายวีสลีย์ สำหรับเด็กที่เพิ่งจบจากฮอกวอตส์ได้เพียงปีกว่าๆ ตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีดูจะเป็นตำแหน่งที่สูงและเร็วเกินไปสักหน่อยสำหรับเด็กหนุ่มอายุเพียง 19 ปี แน่นอนว่านายวีสลีย์รู้ดีว่าที่ฟัดจ์ทำแบบนี้ต้องการอะไร เขาต้องการเพอร์ซี่ไว้ใกล้ตัวเพื่อสืบความลับของครอบครัว ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย เพราะครอบครัววีสลีย์นั้นสนิทกับแฮร์รี่และดัมเบิลดอร์มาก
แน่นอนเมื่อนายวีสลีย์เตือนลูกชายไปตามที่เขาคิด เพอร์ซี่ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการยินดีจากพ่อแม่จึงโกรธมาก เขาระเบิดอารมณ์ออกมาและใช้คำพูดที่รุนแรงอย่างเช่นว่า "เพราะเป็นแบบนี้ไง พ่อถึงไม่ก้าวหน้าแบบคนอื่นๆ เขา" หรือแม้กระทั่ง "ดัมเบิลดอร์กำลังจะก้าวไปเจอปัญหาใหญ่ และเขาก็รู้ดีว่าความภักดีของเขาควรอยู่ที่ใคร" นายวีสลีย์ซึ่งปกติไม่ใช่คนที่โมโหร้าย แต่ถ้าเขาโกรธแล้วแน่นอนว่าแม้แต่นางวีสลีย์ยังต้องยอมถอย การปะทะอารมณ์ระหว่างสองพ่อลูกถึงจุดแตกหัก สุดท้ายเพอร์ซี่จึงเก็บของและออกจากบ้านไปอยู่ตัวคนเดียว
เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ภาคีนกฟินิกซ์
ก่อนจะแตกคอกับดัมเบิลดอร์ ฟัดจ์มองข้ามทุกเหตุการณ์ที่ดัมเบิลดอร์ทำไปแต่เขาไม่เห็นด้วย อย่างเช่น การจ้างมนุษย์หมาป่า (ลูปิน) มาเป็นอาจารย์สอนวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด หรือแม้กระทั่งการจ้างลูกครึ่งยักษ์อย่างแฮกริดให้เป็นอาจารย์สอนวิชาการดูแลสัตว์วิเศษ ซึ่งแนวความคิดของชุมชนผู้วิเศษที่มีต่อมนุษย์หมาป่าและยักษ์ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
เจ.เค. แสดงให้เห็นถึงการบังคับใช้อำนาจของส่วนกลางหลังจากที่ฟัดจ์หันมาเป็นศัตรูกับดัมเบิลดอร์ เขาใช้กลไกลทางการเมืองเพื่อควบคุมฮอกวอตส์ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า "กฤษฎีการการศึกษา" ฟัดจ์ให้ข่าวกับสาธารณชนว่าเขาต้องการปฏิรูปการศึกษาของฮอกวอตส์ใหม่ พร้อมกับแต่งตั้งอัมบริดจ์ให้เป็นตำแหน่งพิเศษใหม่ที่เรียกว่า "เจ้าพนักงานสอบสวนใหญ่ประจำฮอกวอตส์"
มีพ่อมดแม่มดในกระทรวงบางคนต่อต้านการใช้อำนาจของฟัดจ์เช่นกัน แต่ใครที่ออกหน้าอย่างเปิดเผยก็จะถูกป้ายสีจากกระทรวงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายในอดีต (ตัวอย่างเช่น กริเซลด้า มาร์ชแบงค์ สมาชิกอาวุโสของสภาพ่อมด เธอออกหน้าโจมตีฟัดจ์ที่พยายามแทรกแซงฮอกวอตส์ และเธอต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าพยายามจะโค่นล้มกระทรวงโดยการมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏก๊อบลิน)
ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากว่ากฤษฎีกาฯ พวกนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับฮอกวอตส์ในช่วงปีที่ห้าของแฮร์รี่บ้าง ฟัดจ์และอัมบริดจ์ทำให้การเรียนชั้นปีที่ห้าของแฮร์รี่เต็มไปด้วยความทรงจำของการถูกกลั่นแกล้งจากผู้ใหญ่และการปกปิดความจริงจากผู้นำที่ต้องการรักษาเก้าอี้ของตนเองเอาไว้
คอร์นิเลียส ฟัดจ์ จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ภาคีนกฟินิกซ์
อย่างที่ได้เกริ่นไปตอนแรกว่าฟัดจ์หันมาเป็นศัตรูกับดัมเบิลดอร์ เพราะคิดว่าเขากำลังวางแผนที่จะโค่นตนเองจากตำแหน่ง สิ่งที่ฟัดจ์หวาดกลัวที่สุดคือการได้พบว่าดัมเบิลดอร์มีการซ่องสุมกำลังเตรียมไว้ที่ฮอกวอตส์ เพื่อจะยึดกระทรวงเวทมนตร์ในวันใดวันหนึ่ง
พวกเรารู้ดีว่าดัมเบิลดอร์ไม่ได้คิดจะทำเช่นนั้น เขามีกลุ่มภาคีของตนเองที่เรียกว่า ภาคีนกฟินิกซ์ ซึ่งดัมเบิลดอร์ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมกลุ่มที่ต่อต้านโวลเดอมอร์ให้มาร่วมกันคอยสืบข่าวและสะกดรอยว่าโวลเดอมอร์และกลุ่มผู้สนับสนุนเขามีแผนการอะไรอยู่บ้าง สำหรับดัมเบิลดอร์เขามองไปข้างหน้า นั่นคือการหาหนทางที่จะปราบโวลเดอมอร์ลงจากอำนาจ แต่สำหรับฟัดจ์ เขามองว่าภาคีเป็นภัยที่กำลังคุกคามความมั่นคงของกระทรวง จึงเป็นเหตุผลหลักให้เขาใช้อำนาจของรัฐมนตรี ในการเข้าไปแทรกแซงที่ฮอกวอตส์
การใช้อำนาจแทรกแซงของฟัดจ์ ทำให้นักเรียนฮอกวอตส์ต้องเจอกับอาจารย์สอนวิชาการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดอย่างอัมบริดจ์ ผู้ซึ่งมั่นใจแน่วแน่ว่าจะไม่ให้มีการฝึกใช้คาถาใดๆ ในวิชานี้ ซึ่งความเป็นจริงควรเป็นวิชาสำคัญที่นักเรียนควรจะฝึกป้องกันตัวในช่วงสถานการณ์ที่ความมืดกำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาพวกเขา แต่พวกเขาหมดเวลาไปกับการอ่านหนังสือซึ่งเรียนแต่ภาคทฤษฎีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงทำให้เกิดกลุ่มใหม่ที่มีแฮร์รี่ รอนและเฮอร์ไมโอนี่เป็นแกนนำนั่นคือ กองทัพดัมเบิลดอร์
กองทัพดัมเบิลดอร์ตั้งขึ้นเพราะความสุจริตใจแบบเด็กๆ ของสามสหาย พวกเขาต้องการให้แฮร์รี่ช่วยสอนคาถาต่อสู้และป้องกันภัยที่จำเป็น หากว่าต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้เสพความตาย แต่แน่นอนด้วยสถานการณ์เช่นนี้ การตั้งกลุ่มหรือสมาคมอย่างกองทัพดัมเบิลดอร์ ย่อมทำให้ฟัดจ์และอัมบริดจ์ไม่พอใจอย่างมาก ดังนั้นกลุ่มของพวกเขาจึงกลายเป็นกลุ่มลับใต้ดินที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้จมูกของอัมบริดจ์นี่เอง
สุดท้ายแล้วกองทัพดัมเบิลดอร์ก็ถูกจับได้ ฟัดจ์พยายามไล่แฮร์รี่ออก แต่ดัมเบิลดอร์ก็ออกรับแทนเขา นั่นยิ่งตอกย้ำให้ฟัดจ์เชื่อว่าสิ่งที่เขากลัวมาตลอดนั้นถูกต้องแล้ว การพยายามจะจับกุมดัมเบิลดอร์ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่อย่างน้อยเขาก็บีบให้ดัมเบิลดอร์สละเก้าอี้อาจารย์ใหญ่ได้ในที่สุด เพื่อที่เขาจะได้แต่งตั้งอัมบริดจ์ขึ้นมา และฟัดจ์จึงได้ควบคุมฮอกวอตส์อย่างสมบูรณ์
รูฟัส สคริมเจอร์ จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เจ้าชายเลือดผสม
สำหรับหน่วยงานบริหารกลาง ความเชื่อมั่นจากประชาชนคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานของรัฐมนตรีมั่นคง และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อกระทรวง (พยายาม) กลับมาเป็นมิตรกับแฮร์รี่อีกครั้ง ภายหลังจากที่คอร์นิเลียส ฟัดจ์โดนไล่ออกจากตำแหน่ง และคนที่เข้ามาแทนที่เขาคืออดีตหัวหน้ามือปราบมาร รูฟัส สคริมเจอร์
ก่อนที่ฟัดจ์จะหลุดจากเก้าอี้ เขาใช้ความพยายามในช่วงสุดท้ายเพื่อขอพบแฮร์รี่ผ่านทางดัมเบิลดอร์ เพื่อหวังว่าแฮร์รี่จะช่วยสนับสนุนเขาให้อยู่ต่อไป (ช่างน่าไม่อาย) แม้หลังจากฟัดจ์หลุดจากเก้าอี้ไปแล้ว ความคิดนี้ได้รับการสานต่อโดยสคริมเจอร์ โดยเขามองว่าแฮร์รี่ -- ซึ่งตอนนี้ได้ถูกรู้จักใหม่ในฐานะ ผู้ที่ถูกเลือก -- น่าจะเป็นกระบอกเสียงที่จะช่วยเรียกความมั่นใจจากเหล่าผู้วิเศษให้กลับมาเชื่อมั่นในกระทรวงอีกครั้ง
สคริมเจอร์พยายามหว่านล้อมแฮร์รี่โดยพยายามยกประเด็นความร่วมมือกัน (สมานฉันท์) ระหว่างกระทรวงและตัวเขา แต่เมื่อแฮร์รี่ได้รู้ว่าโดโลเรส อัมบริดจ์ ยังคงกลับไปทำงานที่กระทรวงได้ตามเดิมโดยไม่มีการไต่สวนความผิดที่เธอทำขณะอยู่ที่ฮอกวอตส์ อีกทั้งเขายังไม่ชอบใจกับวิธีการที่กระทรวงทำ อย่างเช่นการจับกุมผู้กระทำผิดทันทีโดยไม่มีการไต่สวน ซึ่งมันทำให้แฮร์รี่นึกถึงซิเรียส ที่ถูกโยนเข้าอัซคาบันโดยไม่มีการไต่สวนเช่นเดียวกัน เพียงเพราะแค่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับผู้เสพความตาย การทำงานที่ไม่โปร่งใสของกระทรวง เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้แฮร์รี่ตัดสินใจไม่ยอมทำตามที่สคริมเจอร์ร้องขอ
ในประเด็นนี้เราสามารถมองได้อีกมุมหนึ่ง ในแง่ของสคริมเจอร์ ซึ่งกระโดดเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่โลกผู้วิเศษเข้าสู่ภาวะสงครามครั้งที่สองอย่างเต็มตัว เขาเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการเรียกความเชื่อมั่นของกระทรวงให้กลับมา หลังจากที่ฟัดจ์ทำมันพังพินาศในช่วงปีสุดท้ายของเขา ดังนั้นการสะสางเรื่องทุจริตและคอรัปชั่นในกระทรวงจึงกลายเป็นประเด็นรองไป ซึ่งหลังจากได้คุยกับแฮร์รี่ ถ้าเขายอมกลับไปสะสางเรื่องนี้สักเล็กน้อย อาจเปลี่ยนใจแฮร์รี่ให้กลับมาช่วยเหลือกระทรวงก็เป็นได้
รีมัส ลูปิน จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เครื่องรางยมทูต
บางครั้งอำนาจทางการเมือง ก็ไม่ได้อยู่ในมือผู้นำที่แท้จริง เพราะมี "มือที่มองไม่เห็น" คอยบงการอยู่เบื้องหลัง ภายหลังจากลอร์ด โวลเดอมอร์ยึดกระทรวงเวทมนตร์ได้สำเร็จ เขาไม่ได้ขึ้นมานั่งแท่นเป็นรัฐมนตรีโดยตรง แต่เขาใช้คำสาปสะกดใจกับไพอัส ทิกเนส ให้กลายเป็นรัฐมนตรีหุ่นเชิดคอยรับคำสั่งเขาโดยตรง
ถามว่าทำไมโวลเดอมอร์ไม่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเสียเอง คำตอบนั้นง่ายมาก เพราะในหลายบริบท การเป็นคนที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังนั้นง่ายดายกว่าการเปิดหน้าออกมาเล่นตรงๆ สำหรับโวลเดอมอร์เขามีอีกหลายอย่างที่ต้องทำมากกว่าจะมานั่งกำจัดพวกลูกมักเกิ้ลหรือวางระบบการปกครองใหม่ และอย่างไรเสียทิกเนสก็อยู่ภายใต้คำสาปสะกดใจ และเขารู้ดีว่ายังมีหลายคนที่ต่อต้านเขาเพียงแต่คนกลุ่มนั้นยังไม่เปิดหน้าออกมาสู้กับเขาโดยตรง การมีทิกเนสเป็นหนังหน้าไฟ จึงมีประโยชน์กับเขาในหลายๆ แง่มุมเป็นอย่างมาก
เดลี่พรอเฟ็ต จาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เครื่องรางยมทูต
ประเด็นการเมืองอันสุดท้ายที่ เจ.เค. แฝงไว้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่เป็นเรื่องที่มนุษยชาติและทุกคนสมควรประนามมากที่สุด ผมขอเรียกมันว่าการเมืองแบบฮิตเลอร์หรือนาซี สิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นคือการกำจัดคนที่แตกต่าง ย้ำว่า แตกต่าง ไม่ใช่เห็นต่างนะครับ เราทราบกันดีว่าหลังจากฮิตเลอร์ได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของเยอรมัน เขาสั่งให้ดำเนินแผนการลับๆ เพื่อกำจัด "ชาวยิว" ในโลกผู้วิเศษก็ไม่ต่างกัน หลังจากที่โวลเดอมอร์ยึดกระทรวงสำเร็จ เขาสั่งให้ดำเนินแผนการกำจัดพวกมักเกิ้ลบอร์นภายในโครงการที่เรียกว่า 'การลงทะเบียนพวกที่เกิดจากมักเกิ้ล'
เชื่อมโยงกับไปในประเด็นแรก ในชุมชนผู้วิเศษมีคนบางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เลือดบริสุทธิ์ พวกเขามีแนวคิดที่รังเกียจพวกคนที่ไม่มีเวทมนตร์ และมันหมายรวมไปถึงพ่อมดแม่มดที่เกิดจากมักเกิ้ล (มักเกิ้ลบอร์น) หรือที่พวกเขามักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เลือดสีโคลน และแน่นอนว่าโวลเดอมอร์กับกลุ่มผู้เสพความตายนั้นล้วนแต่รังเกียจพวกมักเกิ้ล ดังนั้นเมื่อพวกเขายึดอำนาจได้ กลุ่มมักเกิ้ลบอร์นจึงถูกหมายหัวจากกระทรวงทันที
การกำจัดคนที่แตกต่าง คำว่าแตกต่างหมายถึงว่าความต่างนั้นคุณไม่สามารถปรับหรือแก้ไขมันได้ เพราะมันคือสิ่งที่ติดตัวคุณมาแต่กำเนิด ถ้าบอกว่าเห็นต่าง คุณยังพอปรับทัศนคติหรือความคิดให้ค่อยๆ ตรงกันได้ แต่ถ้าเป็นสายเลือด ชาติกำเนิด ชาติพันธุ์หรือแม้แต่สีผิว คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และการกำจัดคนที่แตกต่างไปจากตนเอง ยังไม่นับการที่คุณมองว่าพวกตัวเองเป็นชนชั้นสูง คนกลุ่มอื่นที่แตกต่างเป็นชนชั้นรองจึงต้องกำจัดทิ้ง นั่นเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและสมควรประนามมากที่สุด ไม่ใช่แค่ในโลกผู้วิเศษแต่หมายรวมถึงในโลกของพวกเราด้วย
ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพกันไหมครับว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่แฝงเรื่องการเมืองเอาไว้เต็มไปหมด จริงๆ มีอีกหลายประเด็นยิบย่อยมากที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องการเมืองจะค่อนข้างเด่นชัดในช่วงสามเล่มสุดท้าย ซึ่งแฮร์รี่และเพื่อนๆ กำลังเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การที่ เจ.เค. ให้พวกเขา (รวมทั้งผู้อ่าน) ได้รู้จักการเมืองที่แฝงอยู่ในเรื่อง เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้เยาวชนสนใจเรื่องของการเมือง ซึ่งอย่างที่ผมได้บอกได้นั่นล่ะครับว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่พวกเราจะคาดคิด
อีกอย่างการเมืองไม่เคยนิ่งครับ มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เริ่มศึกษามันในตอนนี้ คุณจะพบว่าคุณพลาดอะไรหลายๆ อย่างมาก ในช่วงแรกของการเรียนรู้เรื่องการเมือง คุณจะมีอารมณ์และความรู้สึกปนอยู่กับการศึกษานั้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะใช้ความชอบ-ไม่ชอบเป็นพื้นฐานหลักในการตัดสินใจ แต่ถ้าคุณได้ศึกษาการเมืองไปเรื่อยๆ คุณจะเริ่มมองอะไรที่รอบด้านมากขึ้น เมื่อถึงจุดนั้น คุณจะเรียนรู้ว่าการเมืองไม่มีขาวหรือดำ แต่มันคือสีเทาๆ เหมือนกับตัวตนของมนุษย์เราทุกคน และเมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วคุณจะเริ่มศึกษาเรื่องการเมืองได้อย่างใจเย็นและสุขุมมากขึ้นตามวุฒิภาวะและวัยวุฒิที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เรียบเรียงบทความโดยโดย Shootty แอดมินเพจพอตเตอร์ไดอารี่
หากนำบทความออกไปโปรดอ้างอิงเว็บไซต์และผู้เรียบเรียง