นักเขียนชื่อดังผู้ติดอันดับเศรษฐีนีลำดับที่ 168 ของ The Sunday Times
เผยชีวิตเรื่องราวในวัยเด็ก ช่วงที่ต้องดำรงชีพด้วยเงินสวัสดิการและความวุ่นวายของงานการกุศล
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ 2004 เจ.เค.โรว์ลิงกำลังอ่าน The Sunday Times รูปถ่ายใบหนึ่งทำให้เธอต้องหยุดชะงัก ภาพขาวดำของเด็กชายอายุราวๆ 5 ขวบ ศีรษะถูกโกน ใบหน้าแนบอยู่กับลวดซี่กรง
"ฉันพลิกดูหน้าต่อไปทันที" เจ.เค.โรว์ลิงกล่าว
ตอนนี้ฉันนั่งอยู่กับเธอที่โต๊ะในครัวซึ่งดูสะดวกสบาย ท่ามกลางเตาอะกาและตู้หนังสือสไตล์เชคเกอร์สีฟ้าไข่เป็ด "ตอนนั้นฉันบอกกับตัวเองว่ายังไงฉันต้องอ่านบทความนี้และถ้ามันแย่เหมือนกับภาพถ่ายนั่นจริง ฉันคงต้องทำอะไรบางอย่าง"
เสียงกรีดร้องเริ่มตั้งแต่ตอน 11 โมงตรงทุกวัน ณ ห้องใต้ดินของบ้านพัก Raby ใกล้กับกรุงปราก ผู้สื่อข่าวของ The Sunday Times รายงานว่าหลังจากได้เยี่ยมชมสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายร้อยแห่งที่ไร้มนุษยธรรมและล้าสมัย เศษซากที่เหลือจากระบอบการปกครองของสหภาพโซเวียต และเด็กชาย Vasek Knotek ได้ถูกขังไว้ในกรง เด็กน้อยผู้พิการ ไม่มีใครทราบอายุที่แท้จริงของเขา ทุกเช้า Vasek จะถูกปลุกขึ้นมาให้ทานข้าวและอาบน้ำ ก่อนจะถูกผลักให้กลับเข้าไปอยู่ใน บ้านกรง ของเขาทันที เสียงร้องคร่ำครวญด้วยความโกรธและสิ้นหวังของเขาดังไปทั่วบ้าน
"ฉันมีปฏิกิริยาทางอารมณ์มากเป็นพิเศษ เวลาที่เห็นพวกเด็กๆ ถูกทอดทิ้งหรือถูกทารุณกรรม ภาพของเด็กคนนั้นที่กำลังกรีดร้องผ่านลูกกรงตาข่ายนั่นน่าหดหู่ใจมาก ตอนนั้นฉันกำลังท้องลูกคนเล็ก ภาพที่เห็นตอนนั้นเลยฝังอยู่ในความทรงจำฉันมาจนทุกวันนี้"
จ.เค.โรว์ลิงปัจจุบันอายุ 59 ปี เธอมีลูก 3 คนได้แก่ เจสสิก้า (31 ปี) เดวิด (22 ปี) และแม็คเคนซี (20 ปี) ในปีนั้น (ค.ศ. 2004) เธอกำลังยุ่งอยู่กับการปืดต้นฉบับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เจ้าชายเลือดผสม แต่เธอก็ยังยอมสละเวลาเพื่อขอเข้าพบทูตเช็กประจำสหราชอาณาจักร เธอเขียนจดหมายถึงบารอนเนสนิโคลสัน สมาชิกรัฐสภายุโรปแห่งวินเทอร์เบิร์น อดีตผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนขององค์กร Save the Children ซึ่งได้จัดตั้งองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในโรมาเนีย
หนึ่งปีต่อมาทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรการกุศล Children's High Level Group และเปลี่ยนชื่อเป็น Lumos ในปี 2010 ตามคาถาในหนังสือของเธอที่ส่องแสงไปที่ปลายไม้กายสิทธิ์ ส่องแสงสว่างไสว
ผ่านมา 21 ปีแล้วตั้งแต่เรื่องราวของ Vasek Knotek ถูกเผยแพร่ โรว์ลิงได้บริจาคเงินกว่า 63 ล้านปอนด์ให้กับ Lumos ทั้งการบริจาคโดยตรงหรือผ่านแคมเปญของเฟรนไชส์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ปัจจุบันได้ช่วยเหลือเด็กๆ มากกว่า 280,000 คน ไม่เพียงแค่ในยุโรบตะวันออก แต่ยังรวมไปถึงเฮติ โคลอมเบียและยูเครนอีกด้วย Sunday Times ลองคำนวณคร่าวๆ และพบว่าโรว์ลิงใช้เงินไปเกือบ 200 ล้านปอนด์กับมูลนิธิของเธอ ได้แก่ Lumos, Volant Charitable Trust และ Anne Rowling Regenerative Neurology Clinic ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้เห็น เธอเองก็แทบจะไม่เคยให้สัมภาษณ์และไม่เคยพูดถึงค่าใช้จ่ายที่ลงไปทั้งหมดของงานการกุศลของเธอมาก่อน
ฉันกำลังพูดคุยกับเธอเพียงไม่กี่วันก่อนที่เธอจะไปเที่ยวพักร้อนและก่อนที่ศาลฎีกาจะตัดสินว่าผู้หญิงนั้นต้องอิงตามเพศกำเนิด ซึ่งโรว์ลิงได้เฉลิมฉลองคำตัดสินนี้ด้วยซิการ์และค็อกเทลบนเรือยอทช์ส่วนตัวในบาฮามาส และคำตัดสินดังกล่าวทำให้นักเคลื่อนไหวข้ามเพศรู้สึก "ทุกข์ระทม" และ "ใจสลายอย่างมาก"
ฉันนั่งอยู่กับเธอในห้องครัวที่บ้านในเอดินเบอระ นาฬิาหยุดที่เลข 12 โรว์ลิงเป็นคนใจดีและมีอารมณ์ขัน ผมสีน้ำตาลแดงถูกปัดไปด้านหลัง แว่นตาตั้งอยู่บนจมูก ปลายเล็บสีฟ้าอ่อนกำรอบแท่งบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเธอกำลังพ่นควันออกมาอย่างสบายใจ
หลังจากก่อตั้ง Lumos โรว์ลิงได้ไปเยี่ยมชมบ้านและโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าทั่วยุโรปตะวันออก และนั่นทำให้เธอได้เห็นกับตาตนเองว่าเด็กพวกนี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
"เด็กๆ พวกนั้นจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์และทำหน้าที่ของตัวเองได้ยากมาก ปัจจุบัน เราใช้เวลา 80 ปีในการวิจัยระดับนานาชาติที่ละเอียดและรอบคอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ต้องอยู่ในบ้านเด็กกำพร้ามีผลลัพธ์ในแง่การเจริญเติบโตที่แย่กว่าเด็กที่เติบโตมากับครอบครัว ดังนั้นเราต้องรีบเข้าไปแทรกแซงและจัดการโดยเร็ว การปล่อยละเลยพวกเขาไม่เพียงแค่มีผลต่อสมอง แต่ยังทำให้เด็กๆ พวกนั้นเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรมและแสวงหาผลประโยชน์จากพวกที่ไม่หวังดีอีกด้วย"
โรว์ลิงยังคงจำเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 5 ขวบ ซึ่งนั่งอยู่บนตักของเธอขณะเข้าร่วมการประชุมในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า สาธารณรัฐเช็กใกล้กับกรุงปราก ได้เป็นอย่างดี เด็กคนนั้นยิ้มให้เธออย่างสดใส แต่โรว์ลิงกลับคิดอย่างหนักใจว่า
"เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมและผูกพันกับครอบครัวจะไม่มีวันนั่งบนตักของคนที่ไม่รู้จัก ฉันรู้สึกอ่อนไหวมากและต้องประคองสติอย่างมากขณะพูดกับผู้เชี่ยวชาญในห้อง และฉันถูกทำให้อยู่กับความจริงที่ว่า เด็กคนนี้เป็นภาพสะท้อนให้ฉันเห็นว่า เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์มักจะถูกทารุณกรรมหรือค้ามนุษย์ได้ง่าย เธอถูกพรากสิทธิโดยกำเนิดของเด็กทุกประการ เธอต้องการความรัก ความสนใจมากเสียจนเธอยอมจะไปกับใครก็ได้โดยไม่มีข้อสงสัยเลย"
เราหยุดการพูดคุยไปครู่ใหญ่เมื่อเธอเล่าจบ ฉันเองก็เคยรับเลี้ยงเด็กคนหนึ่งที่เคยประสบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญตั้งแต่เด็ก โรว์ลิงเล่าว่าเธอเองก็เกือบจะรับเด็กคนหนึ่งกลับมาเลี้ยงเหมือนกัน เธอไม่เคยลืมเด็กคนนั้นเลยและรู้สึกเสียใจที่นึกถึงเรื่องนี้อีกครั้ง
"ปี 2007 ที่บูคาเรสต์ เป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ฉันพยายามสบตากับเธอ เธออายุได้ 4 หรือ 5 เดือนนี่ล่ะ แต่แววตาของเธอว่างเปล่ามาก เธอเรียนรู้ว่าถ้าเธอร้องไห้จะไม่มีใครเข้ามาหา ดังนั้นเธอจึงหยุดร้องและปิดกั้นตัวเองไปโดยสิ้นเชิง นั่นทำให้ฉันใจสลายมากๆ ฉันอยากอุ้มเธอกลับมาบ้านจริงๆ ฉันไม่เคยลืมเรื่องนี้ได้เลย"
จริงๆ คำตอบของโรว์ลิงนั้นคือสัญชาตญาณของความเป็นแม่อย่างไม่ต้องสงสัยและเข้าใจได้ เด็กหญิงที่ถูกทอดทิ้งคนนั้น เธอยังมีแม่แท้ๆ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งกว่าร้อยละ 80
"ฉันเจอคำถามมากมายจากผู้บริจาคและชาวตะวันตกว่า ทำไมพวกเขาถึงยังถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่ประเทศในโซนนี้เป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว - ความวุ่นวายทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ล้วนส่งผลต่อจำนวนเด็กที่ถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ แต่ความยากจนต่างหากที่เป็นปัจจัยหลัก Lumos ทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างระบบที่ผู้คนสามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ลูกๆ ได้ แม่จะต้องไม่ทอดทิ้งลูกๆ ของตนหากพวกเขาอยู่ในสถานะที่สามารถจะเลี้ยงดูลูกๆ ให้อยู่กับครอบครัวได้"
โรว์ลิงบรรยาว่าตนเองเป็นคน "จริงจังมากเหมือนกับเฮอร์ไมโอนี่และอยากทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น" เธอเติบโตขึ้นมาในเมืองเชปสโตว์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวลส์ ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยมากนัก ปีเตอร์ พ่อของเธอเป็นวิศวกรเครื่องบินที่โรงงานโรลส์-รอยซ์ ผู้ซึ่งไม่ปิดบังว่าอยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว ส่วนแอนน์ แม่ของโรว์ลิงเป็นเจ้าหน้าที่ห้องแลปเคมีในโรงเรียนมัธยมปลาย ที่โรงเรียนโรว์ลิงเคยได้พบกับเด็กที่ไม่มีอะไรเลย แม้แต่สิ่งที่จำเป็นพื้นฐาน
"บางครอบครัวยากจนมากเสียจนไม่มีเงินซื้อเครื่องแบบนักเรียนให้ลูก ฉันเห็นมันและเกลียดความเหลื่อมล้ำแบบนี้มาก และสิ่งนี้จะไม่มีวันหายไปจากสังคมของเรา เรื่องเหล่านี้หล่อหลอมมุมมองของฉันที่มีต่อโลก บอกให้ฉันมองหาสาเหตุและปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ"
เธอยังจำได้ชัดเจนถึงการ "ยัดเหรียญปอนด์ลงไปในกล่องโลหะรูปร่างเด็กคนหนึ่งที่วางอยู่หน้าร้านค้า โดยไม่แน่ใจว่านั่นเป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มรู้จักการบริจาคเงินหรือเปล่า"
แต่อย่างไรก็ตาม โรว์ลิงต้องเผชิญกับความยากจนแสนสาหัส หลังจากต้องหลบหนีชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความรุนแรงจากโปรตุเกสในปี 1993 พร้อมกับเจสสิก้าที่อายุได้ 4 เดือนและกระเป๋าเดินทางที่มีต้นฉบับสามบทแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เธอกล่าวในสุนทรพจน์ที่ฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2008 ว่าตอนนั้นเธอ "ยากจนที่สุดในอังกฤษยุคใหม่และเกือบจะเป็นคนไร้บ้าน"
วันนี้เธอได้บอกย้ำกับฉันอีกครั้งว่า "คนที่ไม่เคยยากจนมาก่อนไม่มีวันเข้าใจ ฉันไม่เคยลืมช่วงเวลานั้นได้เลย ยังคงจดจำมันได้อย่างชัดเจน คนจนมักถูกพูดถึง ถูกดูหมิ่น ดูแคลน และนั่นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับฉันนานหลายปี"
เมื่อฉันขอเธอให้เล่าเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ฉันสัมผัสได้ถึงความโกรธเคืองที่แฝงอยู่อย่างชัดเจนในน้ำเสียงของโรว์ลิง
"บางครั้งฉันหิวมาก แต่อาหารของลูกยังไงก็ต้องมาก่อน แต่นั่นไม่ได้เลวร้ายที่สุดหรอก ความไม่พอใจเกิดขึ้นแทบทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่เราไม่สามารถให้สิ่งของที่ลูกต้องการได้ ฉันจำได้ว่าเคยพบกับคุณแม่คนหนึ่งที่มีลูกชายวัยเดียวกับเจสสิก้า เขามีของเล่นกองอยู่เต็มห้อง ส่วนฉันมีแค่กล่องใส่รองเท้าซึ่งมีของเล่นเจสสิก้าอยู่แค่ 2 ชิ้น นั่นต่างหากคือสิ่งที่ฉันรู้สึกแย่จริงๆ"
ทุกวันนี้โรว์ลิงยังคงงุนงงกับความสำเร็จที่ตัวเองได้รับ เพราะเมื่อก่อนเธอต้อง "ใช้ความเชื่อมั่นในตนเองสูงมากๆ เพื่อจินตนาการว่าหนังสือของฉันจะเป็นหนังสือขายดี"
ตัวแทนสำนักพิมพ์เคยเตือนให้เธอหางานประจำทำดีกว่า เพราะ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่ใช่แนวของตลาดนิยายในขณะนั้น โรว์ลิงเหนื่อยล้าและเกือบจะยอมแพ้
"การโดนบอกว่าจะไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้แปลว่าฉันจะไม่ประสบความสำเร็จ ในบรรดาคนที่ฉันรู้จักทั้งหมด ฉันอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะเสียแล้วจริงๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็ยากมากที่จะลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง ความรู้สึกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินสวัสดิการมันเลวร้ายมาก ทุกวันนี้ต่อให้เป็นศัตรูหรือคนที่ฉันไม่ชอบขี้หน้ามากที่สุด ฉันก็จะไม่ขอแช่งให้พวกเขาเจอแบบที่ฉันเคยเจอ"
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน ปี 1997 และกลายเป็นหนึ่งในผลงานนวนิยายที่ขายดีที่สุดตลอดกาล โรว์ลิงอายุได้ 32 ปี แต่ด้วยชื่อเสียงที่กะทันหันทำให้เธอได้รับจดหมายจำนวนมาก นอกจากจดหมายจากแฟนๆ คือ จดหมายที่ขอเงิน ซึ่งเธอพบว่าจัดการได้ยากอย่างยิ่ง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โรว์ลิงได้เรียนรู้แล้วที่จะ "ทำการตรวจสอบอย่างรอบคอบ" เพื่อให้แน่ใจว่าเงินของเธอจะถูกใช้ในทางที่ถูกต้องจริงๆ ตอนแรกมีเพียงแค่เธอกับผู้ช่วยส่วนตัว และโรว์ลิงเคยเจอจดหมายขอเงินจากนักลงทุนซึ่งเพิ่งสูญเงินจำนวนมากไปในปี 2006
"พวกเขาบอกว่าฉันเนี่ยโชคดีมากนะที่โตมากับความยากจน เลยไม่รู้ถึงความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียเงินก้อนโต พวกเขาเลยอยากขอเงินฉันเพราะไม่มีเงินพาเมียไปดูละครโอเปร่า - ฟังดูเหมือนเรื่องแต่งใช่ไหม แต่ฉันยังเก็บจดหมายฉบับนี้ไว้อยู่เลยนะ"
แต่จดหมายส่วนใหญ่ที่เธอได้รับนั้นทำให้เธอขำไม่ออกจริงๆ หลายฉบับมาจากผู้หญิงที่พยายามหนีจากผู้ชายที่ชอบข่มขู่และใช้ความรุนแรง และพวกเธอขอเงินช่วยเหลือเพียงไม่กี่ปอนด์
"ทั้งหมดนี่เป็นเรื่องจริงและฉันก็ดีใจที่สามารถช่วยเหลือพวกเธอได้"
โรว์ลิงบริจาคเงินกว่า 86 ล้านปอนด์ให้โครงการต่างๆ ทั้งในสก็อตแลนด์และทั่วโลก โดยเน้นไปที่การขาดแคลนทางสังคมของกลุ่มผู้หญิงและเด็ก กลุ่มคนที่เธอมอง่า "มีความเสี่ยงในชีวิตหรืออาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นทางตัน"
องค์การกุศลแห่งแรกของโรว์ลิงคือ Volant Charitable Trust ในปี 2000 โดยให้การช่วยเหลือเหยื่อจากการล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
เธอยกชาขึ้นดื่มและสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อพักการสนทนาชั่วคราว ก่อนจะเริ่มกล่าวต่อว่า "ฉันก็เคยโดนหลอกอยู่หลายครั้ง แต่ตอนนี้เรามีขั้นตอนในการสกรีนจดหมายแล้ว พูดตามตรงว่ามันทำให้ฉันปวดหัวเหมือนกัน ทุกวันนี้เลยไม่ค่อยเจอจดหมายขอเงินอีกแล้ว"
จดหมายฉบับหนึ่งซึ่งน่าหดหู่ใจมาจากพ่อแม่ที่ขอเงินเพื่อผ่าตัดลูกของพวกเขายังคงติดค้างในใจของโรว์ลิง เมื่อปี 2001 เธอเพิ่งกับนีล เมอเรย์ แพทย์หนุ่มผู้ซึ่งเป็นสามีคนปัจจุบันของเธอ
"ฉันสะเทือนใจและวิตกมากหลังจากอ่านมัน พวกเขาแนบรูปถ่ายและข้อมูลทางการแพทย์ ประวัติการรักษามาด้วย ฉันเลยเอาไปถามนีล นั่นเป็นเหมือนการได้ลองให้เขาได้เห็นฉันในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย เขาอธิบายให้ฉันฟังอย่างใจเย็นว่า เหตุผลที่แพทย์ในอังกฤษไม่ยอมทำการผ่าตัดนี้เพราะมันจะสร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้โดยไม่จำเป็น และถ้าแพทย์คนไหนก็ตามที่เสนอว่าจะผ่าตัดให้ ล้วนมีแรงจูงใจเป็นเรื่องเงินทั้งนั้นล่ะ - นั่นเลยทำให้ฉันเห็นว่าเขาเป็นคนที่ซื่อสัตย์แค่ไหน และมันช่วยให้ฉันคลายความวิตกกังวลได้ และใช่ทุกวันนี้เขายังให้การสนับสนุนฉันอย่างดีมาโดยตลอด"
ปี 2020 โรว์ลิงบริจาครายได้จากนิทานสำหรับเด็กเรื่อง The Ickabog ให้กับ Volant Charitable Trust ซึ่งนำไปใช้ช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และรายได้จากผลงานเรื่องนักสืบสไตรค์เล่มแรก (ภายใต้นามปากกา Robert Galbraith) ให้กับมูลนิธิทหารผ่านศึก ซึ่งมีมูลค่ารวม 8.5 ล้านปอนด์
เมื่อฉันถามถึงคลินิกเกี่ยวกับโรคทางประสาทวิทยาอย่าง Anne Rowling Regenerative Neurology Clinic ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2013 ในเอดินเบอระ โรว์ลิงมีท่าทีกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ แอนน์แม่ของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งในปี 1980 ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนในปี 1990 เธอจากไปด้วยอายุ 45 ปี โรว์ลิงในตอนนั้นอายุ 25 ปี
"โรคของเธอลุกลามเร็วมาก แม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันกำลังเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์"
ความสำเร็จจากเฟรนไชน์ไม่ว่าจะหนังสือ ภาพยนตร์ สินค้าหรือสวนสนุก กำไรทั้งหมด โรว์ลิงนำไปลงทุนกับคลินิกแห่งนี้กว่า 27.8 ล้านปอนด์ จนถึงปัจจุบันสามารถจ้างแพทย์และนักวิจัยที่ดีที่สุดระดับโลกได้
"เรามีงานวิจัยที่ยอดเยี่ยมแต่ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับผู้ป่วยด้วย ไม่ใช่แค่กับโรคปลอกประสาทเสื่อม แต่รวมถึงโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมักไม่ค่อยได้ทุนสนับสนุน คลินิกนี้เป็นการอุทิศให้กับเธอ แม่ฉันเป็นคนทำสวนเก่ง เธอมือเย็นซึ่งฉันไม่ได้สืบทอดเธอมาเลย (หัวเราะ) นั่นคือเหตุผลที่ฉันเลือกต้นไม้เขียวให้เป็นโลโก้ของคลินิก ไม่ใช่แค่ให้ความรู้สึกว่าเหมือนต้นไม้ที่กำลังงอกออกมา แต่เรากำลังกระตุ้นให้เส้นประสาทได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการยกย่องเธอไปด้วย"
ปี 2022 โรว์ลิงก่อตั้ง Beira's Place ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในเอดินบะระ โดยตั้งชื่อตามเทพีแห่งฤดูหนาวของสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นตัวแทนของภูมิปัญญา พลัง และการฟื้นฟูของผู้หญิง
ในฐานะที่เคยรอดจากความรุนแรงในครอบครัวมาเหมือนกันเมื่อช่วงอายุ 20 ปี โรว์ลิงรู้สึกภูมิใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง "ก่อนหน้านี้ไม่มีศูนย์ช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ และมันคุ้มค่ามากเพราะผู้หญิงจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการของเรา"
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โรว์ลิงบริจาคเงิน 1 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน Beira's Place มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาจำนวน 9 คน (เป็นผู้หญิงทั้งหมด) ซึ่งให้การช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กไปแล้วกว่า 6 พันราย
ส่วนเด็กชาย Vasek มูลนิธิ Lumos ได้ช่วยเหลือเขาออกมาจากบ้านเด็กกำพร้าได้สำเร็จ และด้วยกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เราจึงไม่อาจสืบค้นได้ว่าปัจจุบันนี้เขาเป็นอย่างไร แต่รูปแบบการดูแลเด็กกำพร้าในสาธารณรัฐเช็กได้เปลี่ยนไปหลังจาก Lumos ได้เข้าไปแทรกแซง
"พวกเขาเลิกใช้เตียงกรงแล้ว นั่นคือชัยชนะของเรา ฉันยังได้พบกับเด็กๆ จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับ Lumos และตอนนี้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนของเรา พวกเขาเป็นเสียงที่สำคัญแม้เรื่องราวเบื้องหลังของพวกเขาจะน่าหดหู่ใจมากแค่ไหนก็ตาม"
แต่ปัจจุบันนี้ยังคงมีเด็กกว่า 4.5 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แผนของโรว์ลิงในทศวรรษที่สามของ Lumos คือต้องทำให้เด็กเหล่านี้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งได้อยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและอบอุ่นภายในสิบปี
และเป็นเวลาเกือบจะ 30 ปีแล้วที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้สร้างตำนานและเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของวงการสิ่งพิมพ์ โรว์ลิงกลับแทบจะไม่สนใจมรดกหรือตำนานที่เธอสร้างไว้แล้ว
"ฉันยืนยันคำเดิม สำหรับฉันมันดูพิลึกที่จะมานั่งคิดว่าตนเองเคยสร้างตำนานอะไรไว้บ้างและจะจับมันใส่กรอบยังไงดีหลังจากตายไปแล้ว ฉันสนใจคือชีวิตปัจจุบันเท่านั้น จริงๆ แล้วฉันก็คิดเกี่ยวกับความตายไว้แล้วเหมือนกัน แต่ตอนนี้แค่หวังว่ามันจะไม่มาถึงเร็วเกินไป เพราะฉันยังอยากอยู่กับครอบครัวให้นานที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้"
เรียบเรียงบทความโดยโดย Shootty แอดมินเพจพอตเตอร์ไดอารี่
หากนำบทความออกไปโปรดอ้างอิงเว็บไซต์และผู้เรียบเรียง
ติดตามกันได้ที่เพจ https://www.facebook.com/potterdiarythaifa